ReadyPlanet.com
dot dot
bulletพระที่นั่งพิมานจักรี
bulletพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
bulletพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส
bulletพระที่นั่งเทวราชสภารมย์
bulletพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์
bulletพระตำหนักเมขลารูจี
bulletอาคารเทียบรถพระที่นั่ง
bulletสวนโรมัน
bulletศาลท้าวหิรัญพนาสูร
bulletพระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช
bulletนามสกุลพระราชทาน
ชมพระราชวัง 360 องศา




พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว article
  

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ทรงเครื่องต้นเมื่อครั้ง ทรงรับพระสุพรรณบัฏทรงกรมเป็น


 

พระตำหนัก North Lodge
ณ ถนน Fernbank
 
ครั้งทรงศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์
 

ครั้งทรงศึกษา ณ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด



ทรงฉลองพระองค์แบบญี่ปุ่น
เมื่อคราวเสด็จประพาสญี่ปุ่น

ทรงฉลองพระองค์แบบญี่ปุ่นมื่อคราวเสด็จประพาสญี่ปุ่น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

      พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ เวลา ๘ นาฬิกา ๕๕ นาที ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ ที่ ๒ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนีนาถ๑ ทรงได้รับพระราชทานนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราวุธ” สมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีตรัสเรียกว่า “ลูกโต”

      เมื่อพระชนมายุได้ ๘ พรรษา ในปี ๒๔๓๑ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวารวดี ปรากฏพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เอกอัครมหาบุรุษบรมนราธิราช จุฬาลงกรณ์นาถราชวโรรส มหาสมมตขัตตยพิสุทธิ์ บรมมกุฎสุริยสันตติวงศ์ อดิสัยพงศ์วโรภโตสุชาติ คุณสังกาศวิมลรัตน์ ทฤฆชนมสวัสดิขัตติยราชกุมาร มุกสิกนาม ทรงศักดินา ๕๐,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรมให้ทรงดำรงพระเกียรติยศเป็นชั้นที่ ๒ รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และได้มีพระราชพิธีโสกันต์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕

 

การศึกษา

      ในขณะทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาในพระบรมมหาราชวัง พระอาจารย์ภาษาไทย คือ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หนู อิศรางกูร ณ อยุธยา) และหม่อมเจ้าประภากรในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ส่วนภาษาอังกฤษทรงศึกษาจากนายโรเบิร์ต มอแรนต์ (Robert Morant) เมื่อมีพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษาเศษ สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ มีผู้โดยเสด็จฯ คือ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์) พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) หม่อมราชวงศ์สิทธิ สุทัศน์ (นายพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร) และพระมนตรีพจนกิจ (เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี นามเดิม หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) ผู้ทำหน้าที่พระอภิบาลและถวายพระอักษร    เมื่อเสด็จถึงประเทศอังกฤษแล้วได้ประทับที่ไบรตัน (Brigthon) ราวเดือนเศษแล้วจึงเสด็จไปประทับที่นอร์ธ ลอดจ์ (North Lodge) ตำบลแอสคอต (Ascot) การศึกษาในระยะนี้เป็นการจ้างอาจารย์พิเศษมาสอน ณ ที่ประทับ เซอร์ เบซิล ทอมสัน (Sir Basil Thomson) ถวายความรู้เบื้องต้น

     ระหว่างประทับอยู่ที่แอสคอต ประเทศอังกฤษนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้สวรรคตเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวารวดี ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารแทน ได้ประกอบพระราชพิธีขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ราชองครักษ์ที่ได้ส่งไปประจำพระองค์เฉลิมพระเกียรติยศตามตำแหน่งสยามมกุฎราช กุมาร คือ นายพันโท พระยาราชวัลลภานุสาฐ (พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร สมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ นามเดิมอ๊อด ศุภมิตร) กับนายร้อยเอกหลวงสรสิทธิยานุการ (นายพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน นามเดิมอุ่ม อินทรโยธิน)

    หลังจากนั้นได้ทรงย้ายที่ประทับไปยังบ้านใหม่ชื่อเกรตนี่ (Graitney) ตำบลแคมเบอร์ลีย์ (Camberley) ใกล้ออลเดอร์ชอต (Aldershot) เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๙ ณ ที่นั้น นายพันโทชี วี ฮูม (C.V.Hume) เป็นผู้ถวายการสอนวิชาทหาร ส่วนวชาการพลเรือนได้แก่ นายโอลิเวอร์ (Olivier) ครูชาวอังกฤษและนายบูวิเยร์ (Bouvier) ชาวสวิสเป็นผู้ถวายการสอนภาษาฝรั่งเศส

      ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ทรงศึกษาวิชาการทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ (Royal Military Acadamy, Sandhurst) และทรงย้ายที่ประทับไปอยู่ที่ฟริมลีย์พาร์ค (Frimley Park) เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๑ เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแล้ว ได้ทรงแล้วได้ทรงเข้ารับราชการทหารในกรมทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัม (Derham Light Infantry) ที่นอร์ธ แคมป์ (Notrh Camp) ณ ออลเดอร์ชอต และได้เสด็จไปประจำหน่วยภูเข้าที่ ๖ ค่ายฝึกทหารปืนใหญ่ที่โอคแฮมป์ตัน (Okehampton) ต่อมาอีกเดือนหนึ่งได้เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนปืนเล็กยาวที่เมืองไฮยท์ (Schook of Musketry of Hythe) ทรงได้รับประกาศนียบัตรพิเศษและเหรียญแม่นปืน

       เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาในด้านการทหารแล้วได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาประวัติ ศาสตร์และกฎหมาย ที่ไครสต์ เชิช (Christ Church) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๒ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยจัดถวายแด่พระราชวงศ์อังกฤษ จึงไม่มีการรับปริญญาบัตร พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์วิทยานิพนธ์ทรงประวัติศาสตร์ เรื่อง The War 0f the Polish Succession เสนอต่อมหาวิทยาลัยผลการศึกษาของพระองค์ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดนั้น       นายโคลเซสเตอร์ เวมิส (Colchester Wemys) ซึ่งเป็นพระสหายอาวุโสได้สรุปความเห็นว่า

....พระองค์ทรงได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวงจากการศึกษาหลาย ด้านระหว่างที่พำนักในยุโรป ทรงเป็น “สุภาพบุรุษ” อย่างแท้จริง ถึงว่าจะทรงมีความเป็นกันเองมากที่สุดและไม่ทรงเสแสร้งใดๆ ทั้งสิ้นก็ตาม แต่ก็ไม่เคยทรงลืมหน้าที่อันสูงส่ง ซึ่งชะตากรรมได้บันดาลให้เป็นไป พระองค์ทรงมีรสนิยมสูงในด้านวรรณกรรม ทรงอ่านหนังสือมาก และสามารถที่จะทรงใช้วิจารณญาณของพระองค์เองเกี่ยวกับการเมืองของโลก ปัจจุบัน เราจะเฝ้าคอยดูอนาคตของพระองค์ด้วยความสนใจยิ่ง และเชื่อมั่นว่าจะทรงกระทำประโยชน์แก่ประเทศบ้านเกิด และจะจำความสุขอันยั่งยืนนานมาสู่พระองค์เองได้

      บาทหลวงฟรานซิส พาเจท (Reverend Francis Paget) คณบดีไครสต์ เชิช ขณะนั้นได้เคยมีหนังสือถึงอัครราชทูตไทยกรุงลอนดอนตอนหนึ่งมีความว่า ....ข้าพเจ้าระลึกเสมอไปดัวยความนิยมในคุณสมบัติสองประการของพระองค์ ประการแรกเกี่ยวกับความตั้งพระทัยแน่วแน่ และความรู้สึกที่ถูกต้องในการปฏิบัติพระองค์ ณ มหาวิทยาลัยนี้ และประการที่สองเกี่ยวกับความเข้มแข็งพอที่จะเผชิญโรคร้าย คุณสมบัติเหล่านี้ประกอบกับความสนพระทัยในปัญหาต่างๆ การเข้าพระทัยในประเด็นต่างๆ อย่างรวดเร็วเร็ว ทำให้ข้าพเจ้าหวังว่าพระองค์จะทรงใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางใน โอกาสต่อไปข้างหน้า

      ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้นได้ทรงพระประชวรด้วยโรคพระอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ มีพระอาการมากต้องทรงรับการผ่าตัดทันทีในด้านกิจกรรม พระองค์ได้ทรงก่อตั้งสโมสรคอนโมโปลิตัน (Cosmopolitan Society) ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งชุมนุมนิสิต มีการบันเทิง การแลกเปลี่ยนกันอ่านคำตอบวิชา ที่ศึกษาอยู่ นอกจากนี้ยังได้ทรงเข้าเป็นสมาชิกสโมสรบุลลิงตัน (Bullington Club) สโมสรคาร์ดินัล (Cardinal Club) และสโมสรการขี่ม้าด้วย

ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ

      เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสประเทศทางยุโรป ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๐ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ได้เสด็จจากลอนดอนไปเฝ้ารับเสด็จฯ ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี หลังจากนั้นยังทรงรับมอบพระราชภาระเป็นผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จไปร่วมงานพระราชพิธีฉัตรมงคลสมโภชในโอกาสที่สมเด็จ พระราชินีวิคตอเรียเสวยราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในพ.ศ. ๒๔๔๐ นอกจากนี้ได้เสด็จไปในงานพระราชาภิเษกพระเจ้าอัลฟองโซที่ ๑๓ แห่งสเปน และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ แห่งอังกฤษ และพระราชพิธีบรรจุพระศพสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษในพ.ศ. ๒๔๔๕

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

      ในระหว่างปิดภาคเรียนขณะประทับทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ได้เสด็จไปทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศส และทอดพระเนตรกิจการทหารของประเทศในภาคพื้นยุโรปเป็นเนืองนิตย์ ครั้งทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้ทรงย้ายจากประเทศอังกฤษไปประทับที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้เสด็จไปเยี่ยมประเทศต่างๆ ในยุโรป และประเทศอียิปต์ซึ่งเป็นนโยบายที่จะผูกสัมพันธไมตรี แล้วจึงเสด็จจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อนิวัตกรุงเทพมหานครตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ โดยได้เสด็จผ่านประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เสด็จถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕

 

พระราชกิจในประเทศไทย

      สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารได้ทรงเข้ารับราชการทหารทันทีที่เสด็จกลับ ต่อมาได้ทรงรับพระราชทานพระยศนายพลเอกราชองครักษ์พิเศษและจเรทัพบก กับทรงเป็นนายพันโทผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ นอกจากนั้นทรงช่วยเหลือกิจการ ของสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้ผนวชตามโบราณราชประเพณี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประทับจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร ๑ พรรษา ทรงได้รับสมณฉายาจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชอุปัธยาจารย์ว่า “วชิราวุโธ”

      หลังจากทรงลาสิกขาแล้วได้ประทับ ณ พระราชวังสราญรมย์ เป็นองค์อุปถัมภกของสยามสมาคม แลชะทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ และครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ เป็นผลให้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” และ “ลิลิตพายัพ” ทรงใช้พระนามแฝงว่า “หนานแก้วเมืองบูรห์”

      ต่อมาเสด็จไปหัวเมืองปักษ์ใต้ในพ.ศ. ๒๔๕๒ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่อง “จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้” ทรงใช้พระนามแฝงว่า “นายแก้ว” นอกจากนี้ได้ทรงมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายหลายฉบับ และก่อนหน้าที่จะทรงขึ้นครองราชย์เพียง ๒-๓ เดือน ก็ได้ทรงรับมอบหมายให้ทรงกำกับราชการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีเสนาบดี จึงนับว่าทรงมีพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหารงานของประเทศชาติ

 

เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

      เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบแทนเมื่อเวลา ๐.๔๕ นาฬิกา ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดเป็น ๒ งาน คือ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเทียรเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ และงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔

 

พระมเหสีและพระราชธิดา

      พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีหมั้นกับหม่อมวัลลภาเทวี พระราชธิดาในพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓ และทรงประกาศเลิกการพระราชพิธีหมั้นเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ด้วยเหตุที่พระราชอัธยาศัยมิได้ต้องกัน

      ต่อมาได้โปรดเกล้าฯสถาปนา หม่อมเจ้าลักษณมีลาวัณ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๔ และเป็นพระนางเธอลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ต่อมาพระนางเธอทรงแยกอยู่ตามลำพัง

      พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพิธีอภิเษกสมรสกับเปรื่อง สุจริตกุล พระสนมเอก และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น พระสุจริตสุดา เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ต่อมาทรงประกอบพิธีอภิเษกสมรสกับคุณประไพ สุจริตกุล ผู้น้อง เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระอินทราณี ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระวราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ และเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี  ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕  แต่ในที่สุดได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘

       พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าจอมสุวัทนา (คุณเครือแก้ว อภัยวงศ์) เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ และโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชธิดา คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘

 

สวรรคต

      พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประชวรด้วยโรคทางเดินอาหารขัดข้อง ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าทรงพระประชวรด้วยโรคพระโลหิตเป็นพิษในอุทร มาตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ และสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ เวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาที พระชนมพรรษาเป็นปีที่ ๔๖ เสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ ๑๕ พรรษา

 

 

 

 




พระราชประวัติ

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี article